พระบิดาแห่งการค้าไทย

พระบิดาแห่งการค้าไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงปกครองประเทศระหว่างพุทธศักราช 2367-2394 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว 4 ปี ได้สถาปนาให้ทรงกรมพระราชทานพระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองหลายตำแหน่ง พระราชกิจที่ทรงปฏิบัตินอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ราชการอันเป็นผลดีแก่การบริหารราชการแผ่นดินคือทรงจัดสินค้าใส่เรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีน ได้เงินมาเท่าใดทรงนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ สมเด็จพระบรมราชชนก เพื่อนำมาใช้สอยในราชการแผ่นดินเป็นการช่วยคลี่คลายความขัดสน โดยมิได้เก็บเงินเป็นส่วนพระองค์ หรือแจกจ่ายแก่พระโอรสและพระธิดาแต่อย่างใด นับเป็นการเสียสละและเห็นแก่บ้านเมืองอย่างยากที่จะมีผู้ใดทัดเทียมได้ จนพระองค์ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกตั้งแต่ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า “เจ้าสัว”
ทรงรู้เท่าทันเหตุการณ์และกลไกการค้าระหว่างประเทศ ทรงปรับเปลี่ยนการสร้างสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ทรงทำการค้ากับต่างประเทศเงินกำไรที่ได้จากการค้านอกจากทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนกนาภเพื่อใช้สอยในราชการแผ่นดินแล้วยังทรงนำมาบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วเก็บไว้ใน “ถุงแดง” และตรัสไว้ว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง”
ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เงินถุงแดงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัวที่ทรงออมไว้จากการค้า ได้ถูกนำมาแก้ไขวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) เพื่อกู้ชาติบ้านเมืองในยามที่ถูกคุกคามอธิปไตย ทำให้รอดพ้นจากการเสียเอกราช การที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์มองเห็นเหตุการณ์โลกในด้านการค้าได้อย่างถูกต้องและกว้างไกล ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551

คณะรัฐมนตรีได้มีมติถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้าว่า “พระบิดาแห่งการค้าไทย” ด้วยเหตุนี้ วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี จึงถือเป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ซึ่งเป็น “พระบิดาแห่งการค้าไทย” ด้วย
สมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ตระหนักรู้ถึงพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการค้ายุคใหม่ ที่พระองค์ท่านได้ทรงดำริและริเริ่มทำเป็นแบบอย่างแก่พ่อค้าไทย จนปัจจุบันพ่อค้าไทยมีธุรกิจการค้าที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดในโลก และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้กำหนดให้ วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันพ่อค้าไทย” ซึ่งบรรดาพ่อค้าไทยทุกหมู่เหล่าจะมาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างพร้อมเพรียงกัน

คณะกรรมการสมาคม

Social share: